กระบวนการเพื่อสร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเอง After Action Review (AAR) EP2
การทำ AAR เป็นรูปแบบของกลุ่มทำงานที่สะท้อน ความมีส่วนร่วมในการทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น อะไรคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง สาเหตุของการเกิดและสิ่งที่ได้เรียนรู้คืออะไร
ดังนั้นการทำ AAR มักจะเริ่มต้นด้วย 4 คำถาม คือ
- สิ่งที่คาดว่าจะได้จากการทำงาน คืออะไร
- สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคืออะไร
- สิ่งที่แตกต่างและทำไมจึงแตกต่าง
- สิ่งที่ต้องแก้ไข คืออะไร และจะปรับปรุงได้อย่างไร
คุณลักษณะที่สำคัญของ AAR
- เปิดใจและซื่อสัตย์ในการพูดคุย
- ทุกคนในทีมมีส่วนร่วม
- เน้นผลลัพธ์ของกิจกรรมของงาน
- การอธิบายวิธีเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องถึงสิ่งที่ต้องทำ
- การพัฒนาของการแสดงออกทางความคิดเห็นเพื่อให้ผ่านพ้นอุปสรรค
วิธีดำเนินกระบวนการ After Action Review (AAR)
ภาพรวมของกระบวนการ After Action Review (AAR) จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ นั่นคือ
- การแนะนำและการเริ่มต้นกระบวนการ
- การสะท้อนการเรียนรู้
- การจบกระบวนการ
โดยคุณสามารถทำตามคำแนะนำต่างๆ ได้ดังนี้
1. การแนะนำและการเริ่มต้นกระบวนการ
ในขั้นตอนนี้คุณควรจะอธิบายเกี่ยวกับกระบวนการ AAR โดยสามารถบอกได้ว่ากระบวนการนี้คือกระบวนการที่เกิดขึ้นเพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ภายในองค์กร ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาองค์กร พัฒนาการทำงานเป็นทีมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้งานมีคุณภาพดีขึ้นในอนาคต ซึ่งนอกจากนี้ยังมีรายละเอียดต่างๆ ที่คุณอาจบอกก็ได้ว่า
- กระบวนการนี้ไม่ได้นำไปสู่การประเมินผลใดๆ ดังนั้นไม่ต้องกังวลเรื่องความสำเร็จหรือความผิดพลาดที่เกิดขึ้
- เป้าหมายของกระบวนการคือการสร้างการเรียนรู้ให้กับแต่ละคน และการพัฒนาในการทำงานร่วมกัน
- กระบวนการนี้ไม่ใช่การโต้เถียงกัน(debate) เพื่อที่เอาชนะหรือทำให้ใครรู้สึกด้อยคุณค่า
- การมีจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุงและจุดแข็งที่จะต้องรักษาไว้เป็นเรื่องธรรมดาของการทำงาน
- ทุกคนสามารถแบ่งปันได้อย่างตรงไปตรงมาว่าเกิดอะไรขึ้น โดยไม่กล่าวโทษกัน
- ในขณะที่ฟังเพื่อนแบ่งปัน เป็นโอาสกาสดีที่เราจะได้ฝึกฝนการฟังอย่างลึกซึ้ง
- ไม่จำเป็นต้องบอกข้อมูล รายละเอียดทั้งหมด หรือคำตอบให้กับทุกเรื่อง เราสามารถเลือกบางสิ่งที่สำคัญมาเล่าได้
- กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่ดีในการฝึกฝนการสะท้อนตัวเอง (self-reflection) เพื่อนำไปสู่การเติบโตของตัวเอง
คุณอาจค่อยๆ เล่าเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ หากมีโอกาสทำกระบวนการ AAR หลายครั้ง คุณอาจเพิ่มความรู้ต่างๆ ทีละเล็กละน้อยให้ แทนที่จะเล่าให้หมดภายในครั้งเดียว เพราะการฝึกปฏิบัติ AAR ทีละหัวข้อจะช่วยทำให้แต่ละคนค่อยๆ เข้าใจมากขึ้น
นอกจากนี้คุณอาจตั้งกติกาบางอย่างสำหรับการ AAR ด้วย
กฏ กติกา หรือข้อตกลงร่วมกันระหว่าง After Action Review (AAR)
- ทุกคนมีคุณค่าเท่ากัน
- จะไม่มีการกล่าวโทษ ตำหนิกันและกัน
- ไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด
- ไม่ตัดสินกัน โดยใช้การฟังอย่างลึกซึ้ง เมื่อฟังเพื่อนพูด
- ปิดกว้างสำหรับความคิดใหม่ๆ
- สามารถสอบถามกันและกันได้ แต่ห้ามคาดคั้น บังคับใครให้ตอบคำถาม
- ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานร่วมกัน
2. การสะท้อนการเรียนรู้
หลังจากที่คุณได้แนะนำกระบวนการทั้งหมดไปแล้ว คุณสามารถดำเนินกระบวนการสะท้อนการเรียนรู้ได้ โดยอาจเลือกคำถามเหล่านี้ที่คุณต้องจากสิ่งเหล่านี้
- ในตอนแรกคุณคาดหวังว่าอะไรจะเกิดขึ้น?
- สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ คืออะไร?
- มีอะไรที่เป็นไปด้วยดี อะไรที่ดีเกินความคาดหมาย แล้วมันเกิดขึ้นได้อย่างไร?
- มีอะไรที่สามารถปรับปรุง หรือพัฒนาเพิ่มเติมได้?
- อะไรคือสิ่งที่เราทำแล้วมีความสุขที่สุดในงานนี้?
สำหรับคนที่เป็นกระบวนกรหรือ facilitator คุณอาจทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้เพิ่มเติมได้
- ถามว่า “ทำไม” เพื่อที่จะช่วยคนพูดสืบค้นหาราก ที่มาที่ไปของปรากฏการจากเทคนิค 5 whys โดยเฉพาะในกรณีที่คนพูดไม่ได้มีทักษะการสะท้อนตัวเองมากนัก คุณควรจะถามเพื่อที่จะช่วยเหลือให้เขาสามารถเข้าใจและสะท้อนตัวเองได้ดีขึ้น
- บางครั้งอาจมีบางคนแชร์ประสบการณ์ที่ดี แต่ในเหตุการณ์เดียวกันอาจเป็นสิ่งที่แย่สำหรับบางคน facilitator ควรฟังเสียงจากความรู้สึกทั้งสองด้านนี้
- หากคนที่เข้าร่วมมีจำนวนเยอะมาก คุณอาจขอตัวแทนจากกลุ่มบางกลุ่ม
- ควรให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริง แม้ว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งจำเป็น แต่คำแนะนำต่างๆ สำหรับการพัฒนามักจะเกิดขึ้นตามความเป็นจริง
- คุณอาจให้เวลาผู้เข้าร่วมสัก 2-3 นาที เพื่อที่จะนึกถึงสิ่งต่างๆ ก่อนที่จะให้แต่ละคนได้พูด
3. การจบกระบวนการ
ในขั้นสุดท้าย คือการจบกระบวนการ ในขั้นตอนนี้คุณอาจ
- สรุปสิ่งที่เป็นจุดแข็งของการทำงานครั้งนี้
- สรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้และต้องพัฒนาจากการทำงานครั้งนี้
นอกจากนี้คุณอาจใช้เวลานี้เป็นเวลาที่ดีในการบอกเล่าสิ่งที่ประทับใจ ขอบคุณ หรือขอโทษกันและกัน หากมีความขัดแย้งเกิดขึ้น
จำนวนคนและระยะเวลาที่เหมาะสมในการเข้าร่วมกระบวนการ AAR
ในการเริ่มต้น จำนวนที่เหมาะสำหรับการดำเนินกระบวนการ AAR คือมีจำนวนผู้เข้าร่วม 8-15 คน ในเวลา 20-40 นาที จำนวนนี้เป็นจำนวนที่พอเหมาะที่ผู้เข้าร่วมทุกคนจะมีโอกาสพูดได้ แต่กระบวนการ AAR ทั้งสามขั้นตอนนี้สามารถเกิดขึ้นกับคนได้ตั้งแต่ 3 คนจนถึง 200 คนซึ่งรูปแบบอาจเปลี่ยนไปขึ้นอยู่กับเวลาด้วย
หากมีความเชี่ยวชาญแล้วในกระบวนการคุณอาจเพิ่มจำนวนได้ โดยกระบวนการอาจใช้เวลาเพิ่มขึ้น ซึ่งจำนวนที่พอเหมาะอาจอยู่ในระดับ 12-25 คน ภายในเวลา 40-60 นาที
สำหรับผู้เข้าร่วมปริมาณมาก 50-100 คน คุณอาจต้องใช้เวลาถึง 3-4 ชั่วโมงในการดำเนินกระบวนการ AAR และอาจต้องใช้เทคนิคอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อดูความคิดเห็นของทุกคน นอกจากนี้หากจำนวนผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นอาจมีบางคนที่ไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น และจำนวนกระบวนกร (facilitator) ที่ดูแลกิจกรรมก็ต้องมีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน…
กระบวนการ After Action Review (AAR) เป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากจะใช้กระบวนการนี้หลังจากจบงานแบบโปรเจคแล้ว ยังสามารถเกิดขึ้นในกระบวนการเรียนรู้แบบ transformative learning ในบริบทต่างๆ ได้ คุณสามารถใช้กระบวนการนี้เพื่อพัฒนาและทบทวนการเรียนรู้หลังจากจบงานแบบโปรเจค การทำงานร่วมกันเป็นทีม หรือถอดบทเรียนประจำปีได้อีกด้วย …
ที่มา https://www.urbinner.com/post/after-action-review-aar
https://www.nstda.or.th/home/knowledge_post/after-action-review/
รูปภาพ https://www.pexels.com/