การจัดการความรู้แบบ SECI Model ???

การเพิ่มศักยภาพ หรือประสิทธิภาพของการทำงาน ปัจจุบันหลายๆองค์กรจึงมีการให้ความสำคัญกับ การจัดการความรู้ หรือ Knowledge Management เพราะทุกองค์กรตระหนักได้ถึงความสูญเสียความรู้ไปพร้อมๆกับการสูญเสียบุคคลากรในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเนื่องจากการเกษียณอายุงาน หรือการลาออกก็ตาม กระบวนการเรียนรู้ที่นิยมนำมาใช้ คือ กระบวนการ Knowledge Spiral หรือ SECI Model ซึ่งคิดค้นโดย Ikujiro Nonaka และ Takeuchi ในบทความนี้เราจึงจะนำ SECI Model มาแบ่งปันกัน

SECI Model คืออะไร?

อย่างที่เกริ่นไปในตอนต้น โมเดลเซกิ (SECI Model) ถูกเสนอโดย โนนากะ กับ ทาเคอุชิ ในปี 1995 (Nonaka และ Takeuchi,1995) คือ แผนภาพแสดงความสัมพันธ์การหลอมรวมความรู้ในองค์กรระหว่างความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) กับความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) โดยใช้ 4 กระบวนการ เพื่อยกระดับความรู้ให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นวัฎจักร เริ่มจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Socialization) การสกัดความรู้ออกจากตัวคน (Externalization) การควบรวมความรู้ (Combination) และการผนึกฝังความรู้ (Internalization) และวนกลับมาเริ่มต้นทำซ้ำที่กระบวนการแรก เพื่อพัฒนาการจัดการความรู้ให้เป็นงานประจำที่ยั่งยืน

  1. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Socialization) S : Tacit to Tacit

กระบวนการที่ 1 อธิบายความสัมพันธ์ทางสังคมในการส่งต่อระหว่างความรู้ฝังลึก (Tacit knowledge) ด้วยกัน เป็นการแบ่งปันประสบการณ์แบบเผชิญหน้าระหว่างผู้รู้ หรือที่เราเรียกง่ายๆว่าเป็นการให้ความรู้แบบเผชิญหน้ากัน เช่น การประชุม การระดมสมอง ที่มาจากความรู้ การเรียนรู้ และประสบการณ์ของแต่ละบุคคล เฉพาะเรื่อง เฉพาะพื้นที่ แล้วนำมาแบ่งปัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบได้พบปะกัน ไม่ใช่จากการอ่านหนังสือ คู่มือ หรือตำรา หรือผ่านสื่อใดๆ

  1. การสกัดความรู้ออกจากตัวคน (Externalization) E : Tacit to Explicit

กระบวนการที่ 2 อธิบายความสัมพันธ์กับภายนอกในการส่งต่อระหว่างความรู้ฝังลึก (Tacit knowledge) กับความรู้ชัดแจ้ง (Explicit knowledge) หรือเรียกง่ายๆว่าส่งต่อความรู้แบบผ่านสื่อ อาจเป็นการนำเสนอในเวทีวิชาการ หรือบทความตีพิมพ์ เป็นการพัฒนาองค์ความรู้ที่ถูกฝังอยู่ในความรู้ฝังลึกให้สื่อสารออกไปภายนอก อาจเป็นแนวคิด แผนภาพ แผนภูมิ เอกสารที่สนับสนุนให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้เรียนรู้ด้วยกันที่เข้าใจได้ง่าย ซึ่งความรู้ฝังลึกจะถูกพัฒนาให้ตกผลึกและถูกกลั่นกรอง แล้วนำไปสู่การแบ่งปัน เปลี่ยนเป็นฐานความรู้ใหม่ที่ถูกนำไปใช้สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ในกระบวนการใหม่

  1. การควบรวมความรู้ (Combination) C : Explicit to Explicit

กระบวนการที่ 3 อธิบายความสัมพันธ์การรวมกันของความรู้ชัดแจ้ง (Explicit knowledge) ที่ผ่านการจัดระบบ และบูรณาการความรู้ที่ต่างรูปแบบเข้าด้วยกัน อธิบายง่ายๆ คือการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆให้ทันต่อกระแส เช่น นำความรู้ที่มีไปสร้างต้นแบบใหม่ ไปสร้างสรรค์งานใหม่ ได้ความรู้ใหม่ โดยความรู้ชัดแจ้งได้จากการรวบรวมความรู้ภายในหรือภายนอกองค์กร แล้วนำมารวมกัน ปรับปรุง หรือผ่านกระบวนการที่ทำให้เกิดความรู้ใหม่ แล้วความรู้ใหม่จะถูกเผยแพร่แก่สมาชิกในองค์กรต่อไป

  1. การผนึกฝังความรู้ (Internalization) I : Explicit to Tacit

กระบวนการที่ 4 อธิบายความสัมพันธ์ภายในที่มีการส่งต่อความรู้ชัดแจ้ง (Explicit knowledge) สู่ความรู้ฝังลึก (Tacit knowledge) คือขั้นตอนการปฏิบัติจริง นั้นคื่อมีการนำความรู้ที่ได้มาไปใช้ในระดับบุคคล ครอบคลุมการเรียนรู้และลงมือทำ ซึ่งความรู้ชัดแจ้งถูกเปลี่ยนเป็นความรู้ฝังลึกในระดับบุคคลแล้วกลายเป็นทรัพย์สินขององค์กร

อ่านมาถึงตรงนี้มีแต่ทฤษฎีก็คงจะทำให้งงกับสิ่งที่อ่านมาไม่น้อย นั้นเราจะมาลองดูตัวอย่างกันเพื่อความเข้าใจในการจักการความรู้แบบ SECI Model

ตัวอย่าง

นาย A ได้รับการถ่ายทอดความรู้จากอาจารย์ที่ปรึกษาอย่างสม่ำเสมอโดยไม่มีข้อโต้แย้งแต่แรก ทำให้ข้อมูลที่อาจารย์ให้มาถูกนำเข้าไปจดจำสะสมความรู้ และนำไปใช้งาน “ในขั้นนี้คือ Socialization การถ่ายทอดความรู้ฝังลึก ระหว่างคน กับ คน เป็นการถ่ายทอดความรู้ฝังลึก ไปเป็นความรู้ฝังลึกของอีกคน”

ต่อมานาย A ได้นำความรู้ ออกมาเขียนหนังสือลง และบนสื่อออนไลน์ต่างๆ ทั้งเว็บไซต์ /Blog/ YouTube/Facebook “นั่นคือ Externalization การส่งออกความรู้ฝังลึกของคน ไปเป็น ความรู้ชัดแจ้ง ด้วยสื่อต่างๆ ในที่นี้ จะเป็นสื่อใดก็ตาม ที่สามารถส่งข้ามไปยังผู้รับปลายทางได้”

หลังจากนั้นเมื่อหนังสือ บทความ หรือวีดีโอบน youtube ถูกเผยแพร่และมีคนเข้ามารับชม รับฟัง หรืออ่าน “นั่นคือ Combination การถ่ายโอนความรู้ชัด

แจ้ง ระหว่างสื่อกับสื่อ เป็นการถ่ายทอดความรู้ชัดแจ้งผ่านกระบวนการต่าง ๆ เพื่อทำให้ความรู้ชัดแจ้งนี้ ไปถึงมือผู้รับความรู้ได้ง่ายขึ้น”

และสุดท้าย เมื่อผู้ใดก็ตาม ที่ได้อ่านหนังสือ บทความ หรือชมวีดีโอบน youtube ความรู้ เหล่านี้ ผ่าน “สื่อ” นั้น ๆ และนำความรู้เข้าไปในหัวของผู้คนเหล่านั้นอีกครั้งหนึ่ง “นั่นคือ Internalization การรับเข้าความรู้ชัดแจ้งจากสื่อต่าง ๆ มาเป็นความรู้ฝังลึก ในหัวอีก เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้ด้วยตัวผู้รับความรู้นั้นเอง”

SECI Model เป็นเครื่องมือการจัดการความรู้ที่เข้าใจไม่ยากนัก สำหรับนักจัดการความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง HRD ในองค์กร โดยเครื่องมือนี้สามารถเก็บ ถ่ายทอด สร้าง พัฒนา ความรู้ต่าง ๆ จากภายในองค์กรได้เป็นอย่างดี โดยไม่จำเป็นต้องหวังพึ่งความรู้จากภายนอกมากนัก เพราะทรัพยากรที่สำคัญคือ บุคลากรที่มีความสามารถที่อยู่ในบริษัทนั้นเอง เพียงแค่สานต่อความรู้เหล่านั้น โดยไม่ให้ตกหล่น หายไปกับคนใดคนหนึ่ง สนับสนุนการพัฒนาต่อยอดภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง เท่านี้ก็สามารถสร้างองค์กรที่มีการจัดการองค์ความรู้ได้อย่างยั่งยืนแล้ว…”

ที่มาบทความและรูปภาพ

https://hrcenter.co.th/

https://sites.google.com/view/education-km/

http://knowledgemanagement010.blogspot.com/2017/02/seci-model-tacit-knowledge-explicit.html

Related Posts