การใช้ Compa-ratio การบริหารจัดการเงินเดือนที่สอดคล้องกับเป้าหมาย และนโยบายบริษัท..(Compa-ratio EP2)
จากบทความที่แล้วเราได้รู้ความหมาย และสูตรในการคำนวณ และประโยชน์คร่าวๆ ของ Compa-ratio กันไปบ้างแล้ว ในบทความนี้เราจะมาเรียนรู้เพิ่มเติมถึงการนำมาคำนวนเงินเดือนพนักงานแบบตามระดับในองค์กรกันดู
ตัวอย่าง การใช้ Compa-ratio เทียบอัตราการจ่ายเงินเดือนในภาพรวมของบริษัทในแต่ละระดับงานกับอัตรา mid-point ของโครงสร้างเงินเดือน ซึ่งเป็นอัตราตลาด หรืออัตราเป้าหมายในการจ่ายของบริษัท โดยตัวอย่างที่ยกมา
เป็นตัวอย่างที่แสดงโครงสร้างเงินเดือนในแต่ละระดับงาน และอัตราเงินเดือนเฉลี่ยของพนักงานที่อยู่ในระดับงานนั้นๆ
จากตัวอย่างตารางข้างบน ในการคำนวณ Compa-Ratio ก็คือ การเอาเงินเดือนพนักงานเฉลี่ยในแต่ละระดับงานตั้ง แล้วหารด้วยอัตราค่ากลาง (Mid-point) ของโครงสร้างเงินเดือน ผลที่ได้ก็จะปรากฎในชอง Compa-Ratio ซึ่งจะเห็นว่ามีทั้งค่าที่มากกว่า 1 และน้อยกว่า 1 อยู่ จากนั้นเราเอาค่า Compa-Ratio ที่ได้มาทั้งหมดในแต่ละระดับงานนั้น มาหาค่าเฉลี่ยอีกครั้งหนึ่ง ก็จะได้ผลลัพท์เป็น 0.94 ซึ่งแปลว่า บริษัทเราจ่ายเงินเดือนโดยเฉลี่ยต่ำกว่าอัตราเป้าหมายที่กำหนด
โดยหลักการแล้วตัวเลข 0.94 ที่ได้มานั้น เราถือว่าบริษัทจ่ายเงินเดือนอยู่ในเกณฑ์ที่ทัดเทียมกับตลาดแล้ว เพราะอยู่ใกล้ 1 โดยปกติอัตรามาตรฐานที่เขาใช้เป็นตัวเปรียบเทียบว่าอัตราการจ่ายเงินเดือนของบริษัทเรานั้นแข่งขันได้หรือไม่ ไม่น้อยไป ไม่มากไป ก็อยู่ในช่วง 0.9 – 1.1 โดยประมาณ ก็คือ บวกลบจากค่ากลางอยู่ประมาณ 10% แต่ก็มีบางองค์กรที่กำหนดกว้างกว่านี้ก็มีนะครับ เช่น ถ้าเงินเดือนเฉลี่ยของพนักงานอยู่ในช่วง 0.85 – 1.15 (บวกลบ 15%) ก็ยังถือว่าสามารถแข่งขันกับตลาดได้อยู่ แต่ก็จะไม่มากไปกว่านี้
ค่า Compa-Ratio นี้ จะเป็นตัวบอกอัตราการจ่ายเงินเดือนในภาพรวมของบริษัทเมื่อเทียบการตลาดได้อย่างชัดเจนครับ ดังนั้นถ้าบริษัของเราตัวเลขออกมาต่ำกว่า 0.85 ก็แปลว่าอัตราการจ่ายเงินเดือนในภาพรวมของบริษัทอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าตลาด ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดปัญหาในการดึงดูดและรักษาพนักงานได้ พอเราทราบตัวเลขนี้แล้วสิ่งที่นักบริหารค่าจ้างจะต้องดำเนินการต่อก็คือ การนำตัวเลขนี้ไปใช้ในการพิจารณาเสนออัตราขึ้นเงินเดือนประจำปีตามผลงานของพนักงานได้ครับ ซึ่งก็คือ ถ้าเราต่ำกว่าตลาดอยู่ เราก็อาจจะพิจารณาตัวเลขการขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยให้สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า เช่น ถ้าเราพอทราบว่าตลาดปีนี้อาจจะขึ้นเงินเดือนที่ 5% และเรารู้ว่า ค่า Compa-ratio ของเรานั้นต่ำกว่าตลาดอยู่ เราก็อาจจะเสนอผู้บริหารว่าการขึ้นเงินเดือนปีหน้าจะต้องใช้งบประมาณมากขึ้นกว่าที่ตลาดทั่วไปขึ้นให้ ซึ่งก็อาจจะอยู่ที่ 7-8% เป็นต้น
ซึ่งถ้าเราขึ้นเงินเดือนตามตัวเลขนี้ ปีหน้าบริษัทเราก็จะมีอัตราการจ่ายเงินเดือนที่ใกล้เคียงกับอัตราตลาดมากขึ้นครับ ซึ่งก็จะส่งผลต่อแรงจูงใจ และการสร้างผลงานของพนักงานในปีถัดไปด้วย อีกทั้งยังทำให้อัตราเงินเดือนโดยทั่วไปของพนักงานอยู่ในระดับที่แข่งขันได้มากขึ้น
นี่คือตัวอย่างอีกอันหนึ่งของการใช้งาน compa-ratio เพื่อเปรียบเทียบอัตราเงินเดือนโดยภาพรวมของบริษัทกับตลาด ในบทความหน้าเราจะลองนำ compa-ratio ไปประยุกต์ใช้กับการขึ้นเงินเดือนดูบ้าง แล้วพบกันใน EP ต่อไป…
ที่มา https://prakal.com/
รูปภาพ https://www.pexels.com/