สร้างกระบวนการการเรียนรู้ด้วย After Action Review (AAR) EP1..
ความหมาย ที่มา และประโยชน์
การพัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากรภายในองค์กรเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เพื่อที่จะให้องค์กรสามารถปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงได้ แต่การพัฒนาองค์ความรู้นี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการให้พนักงานไปเข้าอบรม หรือเรียนเพิ่มเติมเพียงอย่างเดียว หนึ่งในเครื่องมือ KM ที่ถูกนำมาใช้คือ กระบวนการที่เรียกว่า After Action Review (AAR) เป็นกระบวนการที่ได้รับการพัฒนามาทำให้แต่ละคนในองค์กรสามารถสร้างองค์ความรู้ร่วมกันได้จากประสบการณ์หลังจากการทำงานหรือในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนเกิดเป็นองค์ความรู้ภายในองค์กรที่องค์กรอื่นไม่สามารถลอกเลียนแบบได้
After Action Review (AAR) คืออะไร?
After Action Review (AAR) คือ กระบวนการที่ถูกจัดขึ้นเพื่อวิเคราะห์ว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ทำไมมันจึงเกิดขึ้น และการพัฒนาสิ่งเหล่านั้นต่อไปในอนาคต อาจเรียกว่าเป็นกระบวนการ de-brief หลังจากเสร็จสิ้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ได้
โดยมากมักจะเกิดขึ้นกับงานในลักษณะที่เป็นเหตุการณ์ หรือ โปรเจค แต่กระบวนการนี้ก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องเกิดขึ้นหลังจากการจบงาน หรือโปรเจคด้วยเช่นกันเช่น AAR ในช่วงครึ่งปีนอกจากนี้คุณภาพของการสื่อสารในกระบวนการ After Action Review (AAR) จะมีรูปแบบคล้ายคลึงกับการอภิปราย(discussion) และสุนทรียสนทนา(dialogue) ร่วมกันมากกว่าการโต้เถียงกัน(debate)
After Action Review (AAR) มีที่มาจากไหน?
การทำ AAR เริ่มใช้เป็นครั้งแรกโดยกองทัพสหรัฐอเมริกา เพื่อสะท้อนถึงการทำงานโดยการจำแนกถึงจุดแข็ง จุดอ่อน และสิ่งที่ต้องปรับปรุง กระบวนการที่ทหารกลุ่มนี้ใช้และนำไปสู่ความสำเร็จ คือ กระบวนการถ่ายทอดและแบ่งปันความรู้ที่เรียกว่า After Action Review (AAR) นั่นเอง หลังจากนั้นกระบวนการนี้จึงเป็นที่รู้จัก จนในปี ค.ศ. 1998 เริ่มได้รับการเผยแพร่ต่อไปในองค์กรภาคธุรกิจเช่น Colgate-Palmolive, DTE Energy, Harley-Davidson จนได้รับการปรับปรุงและพัฒนามาเรื่อย ๆ จนถึงทุกวันนี้
ประโยชน์จากการใช้กระบวนการ After Action Review (AAR)
After Action Review (AAR) เป็นกระบวนการสำคัญที่ใช้ในการ facilitation ซึ่งทำให้เรารู้ว่าอะไรเกิดขึ้น และทำไมสิ่งเหล่านั้นจึงเกิดขึ้น การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจะช่วยเหลือคนอื่นๆ ในทีม และทำให้หัวหน้าเห็นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากมุมมองอื่นได้
ตัวอย่างเช่น ในการจัดกิจกรรมงานประชุมของโรงเรียนแห่งหนึ่ง หลังจากที่จบกิจกรรมไป เราสามารถใช้กระบวนการ After Action Review เพื่อดูว่าในครั้งถัดไปคุณจะสามารถทำอะไรให้ดีขึ้นได้
นอกจากนั้นแล้ว กระบวนการ After Action Review (AAR) ยังเอื้ออำนวยให้เกิด
- ความรู้สึกปลอดภัยทางใจในที่ทำงาน (psychological safety)
- การตระหนักรู้ในตัวเอง (self-awareness)
- การพัฒนาทักษะระหว่างบุคคล (interpersonal skills)
- ซึ่งจะช่วยทำให้การทำงานร่วมกันมีประสิทธิภาพขึ้นด้วย
จะเห็นได้ว่า After Action Review (AAR) คือ กระบวนการที่มีไว้สำหรับการพัฒนาสิ่งต่างๆ ที่จะต้องดำเนินต่อไปในอนาคต โดยการวิเคราะห์ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในช่วงเวลานั้น มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ทำไมสิ่งเหล่านั้นจึงเกิดขึ้น การใช้เวลาในการทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนการ AAR ช่วยทำให้องค์กรสามารถสร้างองค์ความรู้ของตัวเองได้
แล้วAAR มีวิธีดำเนินการอย่างไร? เราจะมาเรียนรู้กันใน EP ถัดไป… ^__^
ที่มา https://www.urbinner.com/post/after-action-review-aar
https://www.nstda.or.th/home/knowledge_post/after-action-review/
รูปภาพ https://www.pexels.com/