แนวคิดการจัดการความรู้แบบ Tuna model
ก่อนเราจะเริ่มอภิปรายถึง ทฤษฎีปลาทูน่าโมเดล เรามาเริ่มเรียงความรู้จาก การจัดความรู้ กันก่อน เพื่อให้เข้าใจได้ไวยิ่งขึ้น และสะดวกต่อการสรุปค่ะ!!
เริ่มแรก.. การจัดความรู้ หมายถึง การรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในองค์กรซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในตัวบุคคล หรือเอกสาร มาพัฒนาให้เป็นระบบ เพื่อทุกคนในองค์กรสามารถเข้าถึงได้ง่ายและพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้รู้ รวมทั้งปฏิบัติงานได้มีประสิทธิภาพ
โดยเราสามารถแบ่งประเภทของความรู้ได้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
- ความรู้ที่เด่นชัด ( Explicit Knowledge ) เป็นความรู้ที่อยู่ในรูปแบบของเอกสาร หรือวิชาการ
- ความรู้ซ่อนเร้น ( Tacit Knowledge ) เป็นความรู้ที่แฝงอยู่ในตัวคน เป็นประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน หรือเป็นภูมิปัญญา
ทฤษฎีปลาทูน่าโมเดล
แนวคิดการจัดความรู้แบบ Tuna Model เป็นกรอบแนวคิดอย่างง่ายมีลักษณะที่ไม่สลับซับซ้อนมากนัก มีความเหมาะสมในการใช้เป็นแนวทางเพื่อดำเนินการในการจัดการความรู้
โดยให้การจัดการความรู้เปรียบเสมือนปลา ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนหัว ส่วนลำตัว และส่วนหาง แต่ละส่วนมีหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไปดังต่อไปนี้
- ส่วนหัวและตา (Knowledge Vision – KV) คือการมองว่ากำลังจะไปทางไหน ซึ่งต้องตอบให้ได้ว่า “ทำ KM ไปเพื่ออะไร” หรือก็คือเป้าหมาย วิสัยทัศน์ ทิศทางของการจัดความรู้ กำหนดเส้นทางที่จะเดินไป แล้ววิเคราะห์หา จุดหมายว่าควรจะว่ายแบบไหนดี ไปในเส้นทางไหน ไปอย่างไร ต้องสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กร ความเป็นจริงของการจัดการความรู้ไม่ใช่เป้าหมาย แต่เป็นกระบวนการหรือกลยุทธ์ที่ทำให้งานบรรลุผลตามที่ต้องการโดยใช้ความรู้เป็นฐานหรือเป็นปัจจัยให้งานสำเร็จ
- ส่วนกลางลำตัว (Knowledge Sharing – KS) คือส่วนที่เป็นหัวใจได้ให้ความความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ช่วยเหลือ เกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพราะการที่คนเราจะแบ่งปันความรู้ที่มีอยู่ไปให้ผู้อื่นนั้น ต้องอาศัยความผูกพัน การเป็นมิตร ความสนิทชิดเชื้อ ความไว้วางใจ ความห่วงใยต่อกันและกัน กระบวนการนี้จึงต้องเริ่มต้นที่การทำกิจกรรมสร้างความคุ้นเคยก่อนเป็นลำดับแรก และบรรยากาศที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดี ควรเป็นบรรยากาศที่สบายๆ มีความเป็นกันเอง ไม่เกร็ง ไม่เครียด และไม่เป็นทางการมากนัก กลุ่มแลกเปลี่ยนควรเป็นกลุ่มเล็กๆ ควรใช้วิธีการเล่าเรื่อง ที่เกิดขึ้นจริง โดยผลัดกันเล่าความสำเร็จ ความภูมิใจ ซึ่งถ้าเป็นเรื่องของความสำเร็จต้องเล่าให้ละเอียดว่าเพราะอะไรจึงทำให้ได้รับความสำเร็จ
- ส่วนหาง (Knowledge Assets – KA) คือ สร้างคลังความรู้ เชื่อโยงเครือข่าย ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ “สะบัดหาง” สร้างพลังจากชุมชนแนวปฏิบัติ ซึ่งเปรียบเสมือน ‘ถัง’ ที่เรานำความรู้มาใส่ไว้ แล้วใช้ระบบจัดเก็บเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้สามารถเข้าใจได้ง่าย และเพื่อผู้ใช้ประโยชน์สามารถเอาไปใช้ได้จริง
ซึ่งความรู้ในคลังสามารถแบ่งออกได้อีกเป็น 3 แบบ ดังนี้
- ในลักษณะเรื่องเล่า หรือคำพูดที่เร้าใจ เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความสนใจ เกิดแรงบันดาลใจ ซึ่งความรู้ในลักษณะนี้ จะเป็นความรู้แบบ Tacit Knowledge
- เป็นบันทึกที่ได้จากการวิเคราะห์ สังเคราะห์ แล้วสรุปเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งเป็นความรู้ แบบ Explicit Knowledge
- เป็นส่วนที่อ้างอิงจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ทั้งอยู่ในรูปแบบของเอกสาร การอ้างอิงถึงตัวบุคคล หรือผู้เชี่ยวชาญ ที่เรียกว่า References
คนสำคัญที่ดำเนินการจัดการความรู้
- ผู้บริหารสูงสุด (CEO) สำหรับวงการจัดการความรู้ ถ้าผู้บริหารสูงสุดเป็นแชมเปี้ยน (เห็นคุณค่า และดำเนินการผลักดัน KM) เรื่องที่ว่ายากทั้งหลายก็ง่ายขึ้น ผู้บริหารสูงสุดควรเป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมจัดการความรู้
- คุณเอื้อ (Chief Knowledge Officer, CKO) ถ้าการริเริ่มมาจากผู้บริหารสูงสุด “คุณเอื้อ” ก็สบายไปเปลาะหนึ่ง แต่ถ้าการริเริ่มที่แท้จริงไม่ได้มาจากผู้บริหารสูงสุด บทบาทแรกของ “คุณเอื้อ” ก็คือ นำ เป้าหมาย/หัวปลา ไปขายผู้บริหารสูงสุด
- คุณอำนวย (Knowledge Facilitator , KF) เป็นผู้คอยอำนวยความสะดวกในการจัดการความรู้ ความสำคัญของ “คุณอำนวย” อยู่ที่การเป็นนักจุดประกายความคิดและการเป็นนักเชื่อมโยง โดยต้องเชื่อมโยงระหว่างผู้ปฏิบัติ (“คุณกิจ”) กับผู้บริหาร (“คุณเอื้อ”), เชื่อมโยงระหว่าง “คุณกิจ” ต่างกลุ่มภายในองค์กร, และเชื่อมโยงการจัดการความรู้ภายในองค์กร กับภายนอกองค์กร โดยหน้าที่ที่ “คุณอำนวย” ควรทำ คือ – ร่วมกับ “คุณเอื้อ” จัดให้มีการกำหนด “หัวปลา” ของ “คุณกิจ” อาจจัด “มหกรรมหัวปลา” เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของ “หัวปลา” – จัดตลาดนัดความรู้ เพื่อให้ คุณกิจ นำความสำเร็จมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดความรู้ออกมาจากวิธีทำงานที่นำไปสู่ความสำเร็จนั้น เพื่อการบรรลุ “หัวปลา” – จัดการดูงาน หรือกิจกรรม “เชิญเพื่อนมาช่วย” เพื่อให้บรรลุ “หัวปลา” ได้ง่าย หรือเร็วขึ้น
- คุณกิจ (Knowledge Pracititoner, KP) หรือผู้ปฏิบัติงาน เป็นพระเอกหรือนางเอกตัวจริง ของการจัดการความรู้ เพราะเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมจัดการความรู้ประมาณร้อยละ 90-95 ของทั้งหมด “คุณกิจ” เป็นเจ้าของ “หัวปลา” โดยแท้จริง และเป็นผู้ที่มีความรู้ และเป็นผู้ที่ต้องมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ใช้ หา สร้าง แปลง ความรู้เพื่อการปฏิบัติให้บรรลุถึง “เป้าหมาย/หัวปลา” ที่ตั้งไว้
- คุณประสาน (Network Manager) เป็นผู้ที่คอยประสานเชื่อมโยงเครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างหน่วยงาน ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวงที่กว้างขึ้น เกิดพลังร่วมมือทางเครือข่ายในการเรียนรู้และยกระดับความรู้แบบทวีคูณ
ขอบคุณข้อมูลจาก :