ผู้นำที่หมดไฟ (Manager Burnout ) จะช่วยแก้ปัญหาหมดไฟของลูกทีมได้อย่างไร..?
ความยากลำบากของคนที่เป็นผู้นำก็คือพวกเขายังคงต้องทำหน้าที่ดูแลลูกทีมอยู่ดีแม้ตัวเองจะเจอความเครียดมากแค่ไหน ซึ่งหากมองในเชิงทฤษฎีแล้วก็ดูเป็นแนวทางที่เหมาะสม แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง มีหลายครั้งที่ตัวผู้นำเองกลับเป็นหนึ่งในคนที่หมดไฟเสียเองทำให้บรรยากาศของทีมค่อย ๆ ย่ำแย่จนลดทอนประสิทธิภาพในการทำงานลง
คุณซูซาน เดวิด (Susan David) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Emotional Agility กล่าวว่า การหมดไฟจะทำให้เรามองข้ามทุกอย่างในชีวิต เปรียบเสมือนคนที่ไม่ได้พักเหนื่อย แต่ก็ไม่ได้แข็งแรงมากพอจะรับมัน เราจะเริ่มไม่กินข้าว นอนไม่หลับ มีปัญหาด้านความสัมพันธ์ ฯลฯ ที่สำคัญความเครียดตรงนี้จะส่งต่อไปที่คนรอบตัว ทำให้ทุกอย่างแย่ลง ดังนั้นเพื่อให้ทุกคนสามารถทำงานได้อย่างสบายใจ ผู้นำต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองกลับมาจัดการทีมได้อย่างเป็นระบบที่สุด ซึ่งได้แนะนำไว้ดังนี้
- ให้ความสำคัญกับตัวเองเป็นลำดับแรก : สิ่งที่ผู้นำส่วนใหญ่ทำพลาดเวลารู้สึกว่าตนมีความเครียดก็คือการพยายามให้ความสำคัญกับลูกทีมมากขึ้นเป็นพิเศษ แต่ความจริงวิธีนี้ไม่เกิดประโยชน์เลย เพราะการดูแลคนในขณะที่ตัวเองมีแต่พลังลบจะปราศจากการวางแผนงานที่ถูกต้อง ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรทำคือการหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตตัวเองมากกว่า เช่น การนั่งสมาธิ หรือหยุดพักสักระยะเท่าที่โอกาสจะอำนวยได้ แล้วค่อยกลับไปทำงานเมื่อตัวเองพร้อมจริง ๆ
- เปลี่ยนวิธีรับมือความเครียดให้เป็นเรื่องของทุกคนในทีมไปเลย : การจัดการเรื่องความเครียดไม่จำเป็นต้องทำในวันที่เรารู้สึกหมดไฟหรือรับไม่ไหวอีกแล้วเท่านั้น กลับกันมันสามารถทำได้ในวันที่เรารู้สึกถึงแนวโน้มของปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยผู้นำสามารถประสานงานกับ HR เพื่อจัดอบรมให้รู้จักรับมือกับความเครียดเบื้องต้นทั้งในแง่ของการดูแลตัวเองและการดูแลเพื่อนร่วมทีม หากเราฝึกฝนเรื่องนี้เป็นประจำ ทุกคนก็จะมีระบบตอบสนองอัตโนมัติที่ช่วยให้ปัญหาคลี่คลายได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
- อย่าซ้ำเติมกันและกันเด็ดขาด : ภาวะหมดไฟมักถูกมองเป็นเรื่องร้ายในอารมณ์ว่าตัวเองทำให้อีกฝ่ายผิดหวังจนทำให้พนักงานบางท่านตัดสินใจโทษตัวเอง อย่างไรก็ตามเราต้องเข้าใจในเชิงบริบทก่อนว่ามนุษย์ทุกคนไม่ได้ถูกสร้างมาสมบูรณ์แบบ ทุกคนมีปัญหาที่ต้องค่อย ๆ แก้เสมอ ดังนั้นเราต้องทำใจให้สบายตราบใดที่เราตอบตัวเองได้ว่าทำเต็มที่มากที่สุดด้วยสิ่งที่มีไปแล้ว
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าวิธีฝึกทีมที่ดีที่สุดคือการพูดกระตุ้นเมื่อทีมอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากด้วยประโยคที่แสดงความเชื่อมั่น เช่น “ไม่ต้องกังวล เราทำงานเป็นทีม ตราบใดที่เราร่วมมือกัน ปัญหานี้จะผ่านไปได้แน่ ๆ” ซึ่งหากทุกคนในทีมมีความเชื่อมั่นตรงนี้ วันที่ผู้นำหมดไฟเองจริง ๆ ก็จะยังมีคนอื่นคอยผลักดันให้สถานการณ์ผ่านไปด้วยดี
- ผู้นำต้องเป็นตัวอย่างที่ดี : การวางรากฐานที่ดีที่สุดคือการทำตัวอย่างให้ดู (Role Model) ยกตัวอย่าง หากเราเป็นผู้นำที่ทำงานเป็นบ้าเป็นหลัง แทบไม่พักผ่อน และมักมาถึงออฟฟิศด้วยท่าทีที่หมดสภาพเสมอ สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดประโยชน์เลยในวันที่เราไม่มีไฟในการบริหารทีม เพราะคนอื่นก็จะไม่เห็นว่าเราสามารถพาทีมไปสู่ด้านบวกอย่างไรได้บ้าง ดังนั้นวิธีที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำเรียกว่าการ “นำความเป็นมนุษย์กลับคืนสู่องค์กร” ผู้นำต้องเป็นคนแรกที่แสดงให้ทีมเห็นว่าชีวิตที่ดี มี Work Life Balance เป็นอย่างไร
- หาคำตอบว่าการหมดไฟเกิดขึ้นเพราะอะไร : สาเหตุที่ทำให้คนมีอาการหมดไฟคือความรู้สึกว่าตนไม่มีคุณค่ากับทีมอีกต่อไป ซึ่งความรู้สึกนี้จะทำให้คนในทีมรู้สึกไม่สบายใจว่าความประพฤติของตนได้ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่หรือไม่ ดังนั้นในฐานะผู้นำแล้วอย่างน้อยก็ต้องตอบให้ได้ว่าปัญหาที่ทำให้หมดไฟนั้นคืออะไร จากนั้นให้กระตุ้นทีมโดยมองเป้าหมายเป็นสำคัญ
สิ่งที่ผู้นำเข้าใจผิดก็คือการพยายามให้ความสำคัญกับลูกทีมมากขึ้นเมื่อตนเป็นฝ่ายหมดไฟในการทำงาน เพราะกลัวว่าความอ่อนแอของตนจะส่งผลเสียต่อผู้อื่น แต่จริง ๆ แล้ววิธีที่ถูกต้องคือการถอยไปก้าวหนึ่งทันทีเพื่อเยียวยาจิตใจจนหายดีแล้วค่อยกลับมา เพราะการพยายามหนักในวันที่ไม่พร้อมมีแต่จะทำลายบรรยากาศของทีมในภาพรวม
ปัจจุบันอัตราความเครียดและหมดไฟ (Burnout) มีอัตราสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่เกิดโรคโควิด-19 มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ฉะนั้นการสนับสนุนจากคนรอบตัวนี่ล่ะที่จะเป็นพลังบวกอันสำคัญที่จะนำพาทุกคนออกจากเวลาอันยากลำบากนี้ไปพร้อม ๆ กัน ทั้งตัวผู้นำ และ HRที่ดีก็เป็นอีกกลไกหนึ่งในการดูแลภาพรวมเหล่านี้ได้…
ที่มา https://th.hrnote.asia/personnel-management/220815-manager-burnout/
รูปภาพ https://www.pexels.com/