เรียนรู้ให้เร็วตามหลัก Ultralearning ทำกันอย่างไร
ปัจจุบัน อะไร ๆ ก็เร็วไปหมด เทคโนโลยีพัฒนาเร็วมาก จนบางคนตามไม่ทัน การทำงานเปลี่ยนแปลงเร็วมาก จนคนทำงานเปลี่ยนแปลงไม่ทัน ความรู้ใหม่ ๆ แตกยอดออกไปอย่างมากมาย และรวดเร็ว จนเราอาจจะเรียนรู้ไม่ทัน หรือ เรียนจบไปแล้ว อาจจะยังไม่ทันได้ใช้งาน ความรู้นั้นก็ล้าสมัยไปแล้วก็มี
เมื่อทุกอย่างพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และเพื่อให้ทันต่อความรวดเร็วนั้น เราก็ต้องเรียนรู้วิธีการที่จะเรียนรู้และพัฒนาทักษะให้ตนเองด้วยสปีดที่เร็วขึ้นด้วยเช่นกัน
แล้วจะทำอย่างไร ที่จะทำให้เราเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้เร็วขึ้นกว่าเดิม
อ้างอิงจากหนังสือชื่อ Ultralearning ที่เขียนโดย Scott H. Young ได้วางแนวทางในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ให้เร็วขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ แต่เงื่อนไขก็คือ คนเรียนจะต้องสร้างพลัง และแรงจูงใจ และความกระตือร้นที่ต้องการจะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ นั้นจากใจของตนเองให้เกิดขึ้นให้ได้ก่อน
การถูกบังคับให้ต้องเรียนสิ่งใหม่ๆ โดยที่เจ้าตัวไม่เต็มใจ จะไม่สามารถเกิดกระบวนการ Ultralearning ได้ หรือถ้าเกิดได้ ก็จะไม่มีประสิทธิภาพมากพอเมื่อเทียบกับการที่เจ้าตัวยินดีและเต็มใจที่จะเรียนรู้จากตัวตนของตนเองจริง ๆ
เมื่อเราตั้งใจจะเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ แล้ว ให้ใช้กระบวนการเรียนรู้ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เกิด Ultralearning อย่างได้ผล
- Metalearning ให้เริ่มเรียนรู้จากภาพใหญ่ของเรื่องนั้นก่อน อย่าเข้าสู่เรื่องที่จะเรียนรู้ในทันทีโดยที่ยังไม่เข้าใจภาพใหญ่ของเรื่องนั้น ๆ เช่น ถ้าอยากเรียนภาษาต่างประเทศ ก็ต้องเข้าใจภาพใหญ่ของภาษาต่างประเทศนั้นๆ ก่อนว่า ต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง แบ่งเป็นหัวข้อย่อย ๆ อะไรบ้าง เรามักจะเห็นวิทยากรที่สอนดี ๆ ที่ทำให้คนเรียนเข้าใจเรื่องที่เรียนได้ง่าย โดยการเริ่มต้นจากภาพรวมของเรื่องนั้นก่อน แล้วค่อยดึงเข้าประเด็นที่จะเรียน
- Focus ต้องมีสมาธิแน่วแน่ ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่เรื่องธรรมดาแบบนี้ เชื่อมั้ยครับว่า ปัจจุบันคนเราสมาธิสั้นลง น้อยลง และจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำได้สั้นมาก จนทำให้การเรียนรู้ขาดช่วงบ่อย ๆ และทำให้การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ช้าลงกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น ช่วงที่เราจะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จริงๆ เราต้องตั้งหลักให้ดี สร้างบรรยากาศให้เกิดสมาธิในการเรียนรู้อย่างจริงจัง ปิดเครื่องมือสื่อสาร ปิด Notification ทั้งหมดที่จะเข้ามากวนเราระหว่างเรียน
- หาโอกาสใช้ทักษะที่เราเรียนรู้อยู่เสมอ ผู้เขียนแนะนำว่า ในการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาทางใช้ทักษะที่เรียนรู้นั้นในชีวิตประจำวันให้ได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าใครกำลังเรียนภาษาต่างประเทศ แล้วมีโอกาสได้เอาไปภาษาที่เรียนไปใช้ ณ ประเทศเจ้าของภาษาได้จริง ก็จะทำให้การเรียนรู้เร็วขึ้นมาก แต่ในทางปฏิบัติคงไม่ใช่ทุกคนที่จะทำแบบนี้ได้ เราก็สามารถที่จะใช้ application และ vdo call กับอาจารย์ชาวต่างประเทศ หรือเพื่อนใหม่ ที่อยู่ต่างประเทศได้ หรือสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ในกลุ่มเพื่อนของเรา ว่า ในช่วงเวลานี้ ให้คุยกันเป็นภาษาต่างประเทศ เป็นต้น
- ฝึกฝนทักษะอยู่เสมอ การฝึกฝนบ่อย ๆ ทำให้เราจำได้ และทักษะนั้น จะอยู่กับเราไปตลอด การพัฒนาทักษะ จำเป็นต้องมีการฝึกฝนอยู่เสมอ ดังนั้น เราจะเห็นนักกีฬาอาชีพ นักดนตรีอาชีพ นักแปลอาชีพ นักเขียนโปรแกรมมืออาชีพ ก็ยังคงต้องฝึกฝนทักษะของตนเองอยู่ตลอดเวลา ทุกวันจะต้องมีการฝึกฝนย้อนกลับไปที่พื้นฐานของเรื่องนั้น ๆ แล้วจึงค่อยไปฝึกฝนในสิ่งที่ยากขึ้นตลอด ทำแบบนี้ได้ทุกวัน เราจะมีความชำนาญในทักษะใหม่ ๆ ที่เราเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วมาก
- ทบทวนสิ่งที่เรียนอยู่เสมอ เพื่อให้เราจำได้เร็วขึ้นเราจำเป็นที่จะต้องทบทวน และ recall สิ่งที่เรียนรู้อยู่เสมอ คนที่จำศัพท์ใหม่ ๆ ได้เร็ว ไม่ใช่สมองดีกว่า แต่เขาทบทวนและ recall สิ่งที่เรียนรู้บ่อยกว่าคนอื่น ดังนั้น การทบทวนโดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่น Flash card หรือ application อันทันสมัยในปัจจุบันก็สามารถช่วยเราทบทวนเรื่องที่เรียนได้เร็วขึ้น และจำได้แม่นยำมากขึ้น
- เสาะหา Feedback ที่เป็นประโยชน์ เครื่องมือสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะทำให้เราเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ได้เร็วขึ้นอีกก็คือ การเสาะหา Feedback หรือ การรับ Feedback จากคนที่เก่งกว่า อย่างสม่ำเสมอ ถ้าเราอยากรู้ว่า ตอนนี้ทักษะที่เรามีอยู่นั้นเป็นอย่างไร ก็ต้องไปเสาะหา สอบถามจากคนที่เชี่ยวชาญกว่าเรา เพื่อให้เขาแนะนำเราได้ สิ่งสำคัญก็คือ เราต้องเปิดใจรับ Feedback เหล่านั้น เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาตนเองให้ได้ ถ้าเราทำได้แบบนี้จริง ๆ เราจะพัฒนาทักษะของตนเองได้เร็วมากขึ้น
- เสาะหาแนวทางของตนเอง จากการเรียนรู้ฝึกฝนความรู้ และทักษะใหม่ ๆ สิ่งที่จะทำให้เราเป็น Expert ได้ ก็คือ เริ่มนำสิ่งที่เราเรียนรู้ มาคิดต่อยอด สร้างไอเดีย สร้างแนวทางใหม่ ๆ หรือปรับแนวทางเดิม ให้เป็นแนวทางใหม่ โดยอาศัยสิ่งที่เราเรียนรู้ และคิดต่อยอดออกไป ถ้าเราทำได้ เราจะกลายเป็น Expert ในเรื่องนั้นทันที และทักษะความรู้นั้น ก็จะอยู่กับเราตลอดไป
ถ้าเราต้องการให้พนักงานของเราเรียนรู้ได้เร็วขึ้น ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป องค์กรต้องการให้พนักงานเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ก็คงลองนำเอาแนวทาง Ultralearning ข้างต้นไปประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง
แต่ต้องไม่ลืมว่า คนที่เรียนจะต้องเปิดใจ และต้องการเรียนรู้จริง ๆ จากตัวของเขาเอง แล้วการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก
ที่มา : Prakal’s Blog: HR Knowledge Community