Community of Practice คืออะไร

KM ในแต่ละองค์กรนั้น ต่างก็มีรูปแบบ และวิธีการในการจัดการความรู้ ที่จะทำให้คนในองค์กรเกิดการแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้กันได้หลากลายวิธีการด้วยกัน โดยไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผลการปฏิบัติงานของตน ของกลุ่ม หรือขององค์กร ผ่านการแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ ปัญหาอุปสรรค และวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดในการทำงาน ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้ได้ทั้งสิ้น “ชุมชนนักปฏิบัติ” หรือ Community of Practice (CoP) ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้ที่หลายองค์กรนิยมนำไปใช้กัน

Community of Practice (CoP) คืออะไร?

Community of Practice (CoP) หรือ ชุมชนนักปฏิบัติ คือ การรวมตัวของกลุ่มคนที่มีปัญหาหรือความปรารถนาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ เชิงลึก (ผ่านพื้นที่จริงการประชุม หรือเสมือน) ด้วยความสมัครใจ ทำให้เกิดการสร้างความเข้าใจ มุมมอง หรือพัฒนาแนวปฏิบัติ/ ทักษะ/ วิธีการในการแก้ปัญหาในเรื่องนั้น ๆ และนำไปใช้ในการทำงาน

ชุมชนนักปฏิบัติ เกิดขึ้นโดย ดร. Etienne Wenger และทีมงานเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกกลุ่มแรกที่สร้างแนวคิดนี้ขึ้นมาผ่านการศึกษา การฝึกหัดงาน พวกเขาพบว่ามีความซับซ้อนในสังคมของการฝึกงานที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพ และได้ตั้งชื่อว่า ชุมชนนักปฏิบัติ ชุมชนนักปฏิบัติจึงกลายเป็นศูนย์กลางของการจัดการความรู้หลังจากที่หนังสือเล่มแรกเกี่ยวกับชุมชนนักปฏิบัติ ที่ชื่อว่า Communities of Practice – Learning, Meaning, and Identity ได้พิมพ์เผยแพร่ในปี ค.ศ. 1998 ตั้งแต่นั้นมา ชุมชนนักปฏิบัติมีบทบาทสำคัญในบริบทของการจัดการความรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแลกเปลี่ยนความรู้ภายในองค์กร และเป็นเครื่องมือในการทลายอุปสรรคที่ให้ความรู้ไหลข้ามองค์กร

โดยมีลักษณะการรวมตัวกันดังนี้

  • ลักษณะของ Community of Practice (CoP) หรือ ชุมชนนักปฏิบัติ
  • ประสบปัญหาในการทำงานที่ลักษณะเดียวกัน
  • มีความสนใจเรื่องเดียวกัน ต้องการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากกันและกัน
  • มีเป้าหมายร่วมกัน มีความมุ่งหมายร่วมกัน ที่จะพัฒนาวิธีการทำงานได้ดีขึ้น
  • มีความเชื่อ มีแรงปรารถนา ( Passion ) และยึดถือคุณค่าเดียวกัน
  • มีบทบาทในการสร้างและใช้ความรู้ในองค์กร
  • มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกัน อาจจะพบกันด้วยตัวจริง หรือผ่านเทคโนโลยี
  • มีช่องทางเพื่อการไหลเวียนของความรู้ ทำให้ความรู้เข้าไปถึงผู้ที่ต้องการใช้ได้ง่าย
  • มีความร่วมมือ ช่วยเหลือ เพื่อพัฒนาและเรียนรู้จากเหล่าบรรดาสมาชิกด้วยกันเอง
  • มีปฏิสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง มีวิธีการเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่สายในทางสังคม
  • ทำให้เพิ่มพูนความรู้ที่ลึกซึ้งขึ้นเรื่อย ๆ

ความสำคัญของชุมชนนักปฏิบัติ

จากประสบการณ์ทำงานของหลายๆ คนคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในการทำงานเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้น จำเป็นที่จะต้องมีเครือข่ายความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการกับคนอื่น ซึ่งเกิดจากความใกล้ชิด ความพอใจ และพื้นฐานที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งลักษณะความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการนี้ จะเอื้อต่อการเรียนรู้ของคนในกลุ่ม และสร้างความรู้ใหม่ ๆ มากว่าโครงสร้างที่เป็นทางการ ซึ่งคำว่า “ ปฏิบัติ” หรือ practice ในชุมชนนักปฏิบัติ (CoP ) จะมีจุดเน้นที่ “ การเรียนรู้ซึ่งได้จากการทำงาน” เป็นหลัก ความรู้ที่ได้จึงเป็นแง่มุมเชิงปฏิบัติ เป็นการแก้ไขปัญหาอุปสรรคประจำวันที่เกิดจากการทำงาน เป็นเทคนิคหรือเครื่องมือใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาการทำงาน หรืออาจเป็นวิธีการทำงานที่ได้ผลและไม่ได้ผล แล้วนำมาเรียนรู้ร่วมกันในกลุ่ม

การมีปฏิสัมพันธ์ ติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลในกลุ่ม ทำให้เกิดการแบ่งปัน ถ่ายทอด แลกเปลี่ยนความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวบุคคล และสร้างความรู้ความเข้าใจได้มากกว่าการเรียนรู้จากหนังสือหรือการฝึกอบรมตามปกติ และนอกจากนั้น เครือข่ายที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งมีสมาชิกที่มาจากต่างหน่วยงาน จะช่วยส่งผลต่อการประสบความสำเร็จขององค์กรได้ดีกว่าการสื่อสารตามโครงสร้างที่เป็นทางการ

 

จะจัดทำ Community of Practice (CoP) หรือ ชุมชนนักปฏิบัติ ได้อย่างไร?

หากจะทำชุมชนปฏิบัติในองค์กร นั้นอาจเริ่มต้นด้วย คนกลุ่มเล็ก ๆ ขององค์กรที่ทำงานด้วยกันมาระยะหนึ่ง มีเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน และต้องการที่จะแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์จากการทำงานซึ่งกันและกัน เป็นกลุ่มที่เกิดจากความต้องการทางสังคม และพยายามที่จะทำให้บรรลุผลสำเร็จ โดยที่บริษัทไม่ได้จัดตั้งขึ้นมา เป็นกลุ่มที่ไม่มีอำนาจ ไม่มีการกำหนดไว้ในแผนภูมิโครงสร้างขององค์กร ซึ่งทำให้เป้าหมายอาจตรงกับองค์กร หรือไม่ตรงกับองค์กรก็ได้ และในแต่ละองค์กรอาจจะมีชุมชนนักปฏิบัติ หรือกลุ่มดังกล่าวหลายกลุ่ม และบางคนอาจจะเป็นสมาชิกในหลายชุมชนหรือหลายกลุ่มได้ด้วยเช่นกัน

CoP หรือ ชุมชนนักปฏิบัติ สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกองค์กร ซึ่งอาจมีหลายหลายชุมชน หรือหลายกลุ่มแตกต่างกันออกไป บางกลุ่มมีรวมตัวกันอย่างต่อเนื่อง บางกลุ่มรวมตัวกันไม่ต่อเนื่อง ขึ้นอยู่ปัจจัยสนับสนุนการรวมกลุ่มของชุมชนนักปฏิบัติในด้านต่าง ๆ เช่น ผู้นำองค์กร ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบการสื่อสาร วัฒนธรรมองค์กร ว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่ม หรือชุมชนปฏิบัติที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด หากเป็นเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน องค์กรที่ดีก็ควรสนับสนุนในการรวมกลุ่มนั้นๆ

ที่มา https://www.nstda.or.th/home/knowledge_post/community-of-practice/

http://www.dla.go.th/work/km/home/kmstory/kmstory6.htm

รูปภาพ https://www.pexels.com/th-th/search/Community%20/

Related Posts