Dialogue หลักการของสุนทรียสนทนา ที่นำมาซึ่งโอกาสและการสร้างสรรค์ EP1
“ …เน้นการฟังอย่างลึกซึ้ง(Deep listening) ไม่ด่วนสรุป ให้อิสระทางความคิด ไม่ติดด่วนสรุป เปิดใจแลกเปลี่ยนเพื่อเรียนรู้”
โลกการทำงานในปัจจุบันเต็มไปด้วยการประชุม หลายประเด็น หลายรูปแบบ ตั้งแต่ประชุมระดับย่อย จนถึงประชุมระดับใหญ่ การประชุมทุกครั้ง คือพื้นที่และโอกาส “ในการสร้างความเปลี่ยนแปลง” หนึ่งใน KM Tool ที่ถูกนำมาใช้เพื่อให้การประชุมสามารถสร้างพื้นที่และโอกาสในการสร้างสรรค์สำหรับการประชุมนั้นคือ “Dialogue หลักการของสุนทรียสนทนา”
หลักการของสุนทรียสนทนา หรือ Dialogue คืออะไร?
Dialogue เป็นการใช้พื้นที่หรือเวทีในการสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ที่ทุกคนมีความเสมอภาค ไม่มีผู้นําหรือผู้ตาม เป็นการให้อิสระและไม่ปิดกั้นความคิด เปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน ให้โอกาสทุกคนในการพูด ระหว่างมีผู้พูด ผู้ฟังควรฟังอย่างตั้งใจ ไม่โต้แย้ง ไม่ด่วนตัดสินด้วยข้อสรุปใด ๆ และในระหว่างการสนทนา อาจเกิดความเงียบขึ้นได้ ผู้ฟังสามารถใชhช่วงเวลานั้นลำดับต่อยอดความคิดของตนเองได้ เรียกได้ว่าหลักการของสุนทรียสนทนา หรือ dialogue คือ หลักการฝึกฝนสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าร่วม dialogue
โดยหลักการเหล่านี้ William Isaacs ได้นำทฤษฎีของ David Bohm มาทำให้เกิดขึ้นได้ง่ายในเชิงการปฏิบัติ จนเกิดเป็นหลักการสำหรับฝึกปฏิบัติเมื่ออยู่ใน dialogue ดังนี้
4 หลักปฏิบัติของสุนทรียสนทนา
1. Deep Listening
Deep listening หรือการฟังอย่างลึกซึ้ง คือการฟังวงสุนทรียสนทนาโดยไม่แยกขาดตัวเราออกจากวงสุนทรียสนทนา ให้เราเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวงสุนทรียสนทนาขณะที่เป็นผู้เล่าหรือผู้ฟัง เราจะสามารถมองเห็นสิ่งความเชื่อมโยงของส่วนประกอบทุกอย่างภายในวงสุนทรียสนทนา ไม่เพียงแต่เฉพาะคำพูดที่ส่งผ่านออกมาจากผู้เล่า ในการฟังอย่างลึกซึ้งนั้น เราสามารถปฏิบัติได้ดังนี้
รับรู้ความคิดที่เกิดขึ้น
สังเกตความคิดที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร มีลักษณะอย่างไร เกิดขึ้นตอนไหน ความคิดที่เกิดขึ้นขณะที่เรากำลังเล่าหรือรับฟังเป็นอย่างไร ฟังเสียงของความคิด รูปแบบและข้อจำกัดของความคิดตัวเอง
อยู่กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
อยู่กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
คือการฟังสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่เข้าไปด่วนสรุปหรือตัดสินสิ่งเหล่านั้น บ่อยครั้งที่เราตัดสินว่าความคิดเห็นที่เกิดขึ้นของเราเป็นจริง โดยไม่ได้ตรวจสอบหรือพิสูจน์มันด้วยการทดสอบ เพราะเรามักจะมองหาส่วนประกอบหรือข้อสนับสนุนที่ทำให้ความคิดของเราถูก ไม่ใช่ข้อสนับสนุนที่ทำให้ความคิดของเราผิด
ติดตามดูสิ่งรบกวนที่เกิดขึ้น
การมองเข้าไปยังสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อมีความรู้สึกหรืออารมณ์บางอย่างมารบกวนภายใน เผชิญหน้ากับปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นของอารมณ์ เฝ้ามองสิ่งเหล่านั้น และดูว่าผู้อื่นมีประสบการณ์อย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกของพวกเขา
ฟังโดยไม่ต้านทาน
เมื่อมีปฏิกิริยาหรือความรู้สึกต้านทานใดๆ เกิดขึ้น ให้วางปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น และความรู้สึกต้านทานหรือปฏิเสธสิ่งที่กำลังฟังไว้ข้างๆ ก่อน เพียงแค่รับรู้การมีอยู่ของสิ่งเหล่านั้น และกลับมาฟังต่อ
บ่มเพาะความมั่นคง
หล่อเลี้ยงความเงียบภายใน โดยการทำสิ่งที่ได้กล่าวมาทั้งหมดเพื่อให้อยู่เหนือเสียงภายในที่คอยรบกวนขณะที่ฟัง
การพูดคุยใน dialogue เราจะมีการสนทนากับวงสุนทรียสนทนาทั้งหมด ไม่ใช่เพียงแค่ฟังสิ่งที่ผู้อื่นกำลังพูด และเราจะเล่าให้กับทั้งวงสุนทรียสนทนาฟังไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง เพื่อเป็นการฝึกให้เราได้รับรู้ถึง wholeness (ความเป็นทั้งหมด)
2. Respecting
Respecting หรือความเคารพ คือการเคารพในความหลากหลายและความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นคนที่ไม่เห็นด้วยหรือการแสดงออกของต่อต้านกับสิ่งที่เราได้พูด ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับทั้งตนเองและคนอื่น คุณสามารถทำได้ด้วยการตั้งใจที่จะมองเข้าไปในบางสิ่งอีกครั้ง และเข้าใจว่ามีอะไรบางอย่างสร้างประสบการณ์ที่มีลักษณะเฉพาะขึ้น
ในการสนทนาแบบ dialogue เราจะมีส่วนร่วมในการหาความเป็นหนึ่งเดียวหรือ wholeness ของธรรมชาติ ด้วยการยอมรับความเห็นที่หลากหลายในแต่ละมุมมอง ไม่ใช่ความแตกแยกเป็นสองขั้ว, มุมมองที่ต่างกัน, ไม่ได้อยู่ร่วมกัน หรือไม่ได้เป็นส่วนเดียวกัน โดยเราสามารถปฏิบัติตามหลักเหล่านี้เพื่อฝึกทักษะ respecting ได้
Stand at the hub
Stand at the hub คือการให้ความรู้ตัวของเราอยู่ตรงกลางระหว่างอดีตและอนาคตที่หมุนไปมาในรูปแบบของความคิด เพื่อที่จะให้เราสามารถอยู่กับคนข้างหน้าได้อย่างแท้จริงตามที่พวกเขาเป็น
ความเป็นศูนย์กลาง
ความเป็นศูนย์กลางหรือ centering คือความมั่นคงแต่ยืดหยุ่น เหมือนกับที่ศิลปะป้องกันตัวได้ฝึกฝน โดยการมี centering จะช่วยทำให้เราไม่ไหลตามไปกับสิ่งที่เกิดขึ้น
ฟังให้เหมือนกับทุกอย่างนั้นเกิดขึ้นกับตัวเอง
เป็นการอยู่ในโลกภายในของตัวเอง โดยที่เราสามารถรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในคนอื่น เราจะพยายามตรวจสอบความคิด คววามรู้สึก และพฤติกรรมของตนเอง เพื่อค้นหาว่าพวกเราอาจมีบางสิ่งที่เหมือนกัน และจะทำให้ง่ายต่อรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในผู้อื่น แต่ไม่จำเป็นที่เราจะต้องเห็นด้วย
ทำให้แปลกใจ
การสร้างความรู้สึกแปลกใจให้กับคนอื่นเป็นโอกาสทำให้พวกเขามีประสบการณ์ใหม่กับเรื่องราวเหล่านั้นได้ เพราะการเข้าไปสู่ความเข้าใจในทันทีอาจทำให้ความคิดหรือความเคยชินเดิม ๆ ได้เข้าไปมีบทบาทกับประสบการณ์เดิมที่มีอยู่แล้ว การทำให้แปลกใจอาจสามารถทำได้ด้วยการตั้งคำถาม เล่าตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้น
ความเคารพมีบทบาทสำคัญมากใน dialogue ความเคารพจะนำมาซึ่งความหลากหลายทางความคิดและประสบการณ์ที่เป็นปัจเจก ซึ่งจะทำให้มีหลากหลายมุมมองในวงสุนทรียสนทนา และทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งของทุกสิ่ง นอกจากนี้ Isaacs ได้แนะนำอีกด้วยว่าการให้ความตึงเครียดเกิดขึ้นใน dialogue เป็นสิ่งสำคัญ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องพยายามที่จะคลายความตึงเครียดเหล่านั้น เพราะบางครั้งความตึงเครียดอาจทำให้เกิดพื้นที่ในการเรียนรู้และความเข้าใจใหม่
นี้เป็นเพียงสองส่วน ของหลักปฏิบัติของสุนทรีสนทนา เพื่อสร้างพื้นที่ว่าง ให้โอกาสในการสร้างสรรค์ การฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) ถือเป็นหัวใจหลักของ Dialogue เพราะการตั้งใจฟังโดยไม่ด่วนสรุป จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างการสนทนาภายในกลุ่ม หรือระหว่าบุคคลได้อย่างดี นอกจากนี้การเคารพผู้พูดโดยการเป็นผู้ฟังที่ดีก็ทำให้เราสามรถแลกเปลี่ยนข้อมูลและมีเวลาวิเคราะห์สิ่งที่ได้ยิน ได้ฟังอย่างรอบด้านอีกด้วย …ใน EP ต่อไปเราจะมาพูดถึงแนวทางปฏิบัติที่เหลืออีกสองข้อและแนะนำแนวทางการทำ Dialogue อย่างง่ายๆมาเป็นตัวอย่างเพื่อลองนำไปปรับใช้ในองค์กรกันดู เพื่อสร้างสังคมการเรียนรู้และแบ่งปันในองค์กร
ที่มา https://www.urbinner.com/post/dialogue-4-principles
https://www2.si.mahidol.ac.th/km/knowledgeassets/kmexperience/kmarticle/2329/