Remote working เทรนด์งานยุคโควิด งานคุณภาพดี มีความสุข
จากข้อมูลงานวิจัยของ Global Talent Survey (GTS) คนไทยเริ่มมีการทำงานในรูปแบบของการทำงานทางไกล (Remote Working) มาตั้งแต่ก่อนเกิดภาวะโรคระบาดแล้ว แม้ว่าจะไม่ได้มีปริมาณมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย โดยมีเพียงจำนวนประมาณ 3% นั่นหมายความว่าการทำงานทางไกล ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนไทย และเป็นรูปแบบการทำงานที่ถูกหยิบยกขึ้นมาปรับใช้ในองค์กรมากขึ้นในปัจจุบัน
Remote Working การทำงานไร้พรมแดน
การทำงานทางไกล เป็นรูปแบบของการทำงานที่นำเทคโนโลยี เข้ามาช่วยเพื่อให้งานสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ ที่มีอินเทอร์เน็ตเข้าถึง จะเป็นที่บ้าน หรือ co-working space หรือร้านกาแฟ
การทำงานทางไกลยังรวมไปถึงการเป็นพนักงานขององค์กร ที่บริษัทตั้งอยู่ต่างประเทศ และไม่มีสำนักงานอยู่ในประเทศที่จ้าง เช่น ไม่มีสำนักงานในประเทศไทย แต่จ้างคุณเป็นพนักงานในรูปแบบการทำงานทางไกล ได้รับผลตอบแทนเป็นเงินเดือนพนักงาน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการจ้างงานของแต่ละองค์กร
และจากข้อมูลงานวิจัยของ Global Talent Survey (GTS) ยังทำให้เราได้ทราบอีกว่าคนไทยมีการใช้งานเครื่องมือดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น จากการได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 มีรูปแบบการทำงานเป็นทีม มีความยืดหยุ่นของเวลาการทำงานรวมถึงสถานที่ในการทำงานเพิ่มขึ้น เมื่อการทำงานระยะไกลกำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตการทำงานของคนไทยในไม่ช้า เรามาเรียนรู้ข้อดี – ข้อเสีย ของการทำงานทางไกลกัน
ข้อดีของ Remote Working
พนักงานมีชีวิตการทำงานที่สมดุลขึ้น
พนักงานที่ทำงานแบบ Remote Work ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางเข้าออฟฟิศวันละหลายชั่วโมงไปกับการจราจรที่ติดขัด จึงช่วยให้พวกเขามีเวลาอยู่กับครอบครัว ทำงานอดิเรกและพักผ่อนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นรูปแบบการทำงานที่มีความยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้พนักงานวางแผนการทำงานด้วยตัวเองโดยโฟกัสที่ผลสำเร็จของงานตามเป้าหมายที่วางไว้ แทนที่จะต้องเคร่งเครียดกับการทำงานหน้าจอแล็ปท็อปที่ออฟฟิศ 8-9 ชั่วโมงต่อวันทุกสัปดาห์
ลดต้นทุนและโครงสร้างพื้นฐานทางธุรกิจ
เมื่อมีพนักงานที่ต้องเข้าออฟฟิศน้อยลงทุกวัน บริษัทจึงไม่จำเป็นต้องจัดหาโต๊ะเก้าอี้ทำงานและเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ รวมถึงการขยายพื้นที่สำนักงานเพื่อรองรับพนักงานที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต ในทางกลับกัน บริษัทยังสามารถปรับลดพื้นที่ให้มีขนาดเล็กลงได้อีกด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเช่าถูกลง ประหยัดเงินให้บริษัทได้มากขึ้นจากการลดพื้นที่สำนักงานและโครงสร้างพื้นฐานโดยรวม
เพิ่ม Productivity
พนักงานที่ทำงานแบบ Remote Working มีแนวโน้มที่จะมีประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับพนักงานที่เข้าออฟฟิศ เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลต่อ Productivity ที่เพิ่มขึ้น คือ การรบกวนและหยุดชะงักระหว่างการทำงานน้อยลง เนื่องจากไม่มีเพื่อนร่วมงานเดินมาปรากฏตัวที่โต๊ะทำงานเพื่อชวนพูดคุยเรื่องสัพเพเหระที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานหรือไม่ได้อยู่ในความสนใจ เมื่อพนักงานมีสมาธิกับการทำงานอย่างเต็มที่จึงนำไปสู่ประสิทธิภาพและผลิตภาพที่สูงขึ้นตามไปด้วย
เพิ่มโอกาสในการว่าจ้างและรักษาพนักงานที่มีศักยภาพสูง
ผลสำรวจ ของ International Workplace Group (IWG) ระบุว่าพนักงาน 83% พิจารณาเรื่อง Remote Working เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจรับข้อเสนอว่าจ้างงานจากบริษัทต่างๆ นอกจากนี้ พนักงาน 74% จะลาออกจากบริษัทเดิมเพื่อย้ายไปทำในบริษัทที่อนุญาตให้พวกเขาทำงานผ่านทางไกล แม้ว่าจะได้รับเงินเดือนเท่าเดิมก็ตาม
ดังนั้น การให้สิทธิพิเศษด้าน Remote Work อาจไม่ใช่ทางเลือกที่แต่ละบริษัทจะมองข้ามได้อีกต่อไป หากต้องการเพิ่มโอกาสในการว่าจ้างและรักษาพนักงานที่มีศักยภาพสูงเอาไว้ จึงจำเป็นต้องนำเสนอนโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น ไม่ว่าจะเป็น Remote Working เต็มรูปแบบ หรือ Hybrid Working ที่ผสมผสานระหว่างการทำงานที่บ้านกับการเข้าออฟฟิศ ซึ่งจะช่วยสร้างความแตกต่างให้กับบริษัทและดึงดูดใจผู้สมัครที่กำลังมองหางานได้มากขึ้น
ข้อเสียของ Remote Working
ช่องว่างในการสื่อสาร
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ขาดหายไปในการทำงานแบบ Remote Work คือ การสื่อสารระหว่างเพื่อนร่วมงานอย่างเหมาะสม จากเดิมเป็นเรื่องง่ายมากที่พนักงานจะติดต่อเพื่อนร่วมงานที่เข้าออฟฟิศได้ทุกเมื่อที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว
ในขณะที่การทำงานทางไกล พนักงานต้องพึ่งพาการส่งข้อความโต้ตอบหรือ Video Call เพื่อสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานและเจ้านาย แม้ว่าการประชุมผ่านทาง Video Call อาจช่วยให้ความรู้สึกเสมือนจริงได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับการพูดคุยกับคนที่นั่งอยู่ใกล้ๆ ในสถานที่เดียวกัน ซึ่งปัญหาช่องว่างในการสื่อสารที่เหมาะสมของพนักงานทำให้ Remote Working มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นอุปสรรคสำหรับการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว
ขาดแรงจูงใจในการทำงาน
เนื่องจากการทำงานแบบ Remote Working ไม่มีใครมาคอยควบคุมหรือกำกับดูแลอย่างเข้มงวด รวมทั้งไม่มีสภาพแวดล้อมที่มีเพื่อนร่วมงานทำงานอย่างแข็งขันรอบตัว จึงมีโอกาสที่พนักงานจะขาดแรงจูงใจในการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย มีแนวโน้มที่จะขาดวินัยและติดนิสัยชอบผัดวันประกันพรุ่ง ซึ่งปัญหานี้ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของการทำงานทางไกล หากเริ่มเกิดขึ้นกับพนักงานจำนวนหนึ่งแล้วจะกลายเป็นปัญหาลุกลามที่บั่นทอน Productivity และความสำเร็จขององค์กรได้อย่างมากมายกว่าที่คิด
ขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
การทำงานแบบ Remote Work ทำให้พนักงานขาดการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับคนในองค์กร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเรื่องทีมเวิร์คและการมีส่วนร่วมของพนักงานที่ลดลง นอกจากนี้ เมื่อพนักงานต้องทำงานทั้งวันโดยไม่ได้พูดคุยกับใครมักจะรู้สึกเหงาและอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตใจ ดังนั้น ถ้าองค์กรของคุณคิดจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็น Remote Working จำเป็นต้องมองหาวิธีการหรือกิจกรรมออนไลน์ที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์และเพิ่มการมีส่วนร่วมระหว่างพนักงานที่ต้องทำงานทางไกลเตรียมไว้ด้วย
ความท้าทายในการจัดการงานให้มีประสิทธิภาพ
แม้ว่า Remote Working จะเป็นรูปแบบการทำงานที่น่าสนใจในมุมมองของใครหลายคน แต่มีสิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่อาจมองข้ามไป คือ ภาระหน้าที่ที่พนักงานต้องบริหารจัดการหลายสิ่งด้วยตัวเองตั้งแต่เรื่อง Work Station ไปจนถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต การลงแอปพลิเคชันและติดตั้งซอฟต์แวร์บางอย่าง นั่นหมายความว่า บริษัทจำเป็นต้องวางแผนและเตรียมความพร้อมทั้งในด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และองค์ความรู้ที่จำเป็นเพื่อให้พนักงานได้เรียนรู้และสามารถใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
สรุป
Remote Working เป็นได้ทั้งรูปแบบการทำงานที่น่าพึงพอใจสำหรับพนักงานและทรงประสิทธิภาพสำหรับองค์กรเมื่อมีการวางแผนและบริหารจัดการอย่างรอบคอบ นอกจากนี้ ควรพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียอย่างรอบด้าน ซึ่งจะช่วยให้คุณรู้จักและเข้าใจเทรนด์การทำงานทางไกลมากยิ่งขึ้น ก่อนตัดสินใจว่าองค์กรของคุณพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนการทำงานเป็น Remote Working แล้วหรือยัง
แต่ถึงอย่างไร หลายองค์กรและบริษัทชั้นนำทั่วโลกอย่าง Facebook, Amazon และ Google ได้ริเริ่มนำ Remote Work มาใช้งานจริง สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อองค์กรขนาดใหญ่เริ่มลงมือทำ ก็คงต้องถึงเวลาที่องค์กรของคุณต้องปรับตามเพื่อให้ก้าวทันยุคสมัยใหม่ และตอบโจทย์คน Gen Z เก่งๆที่มองหางาน